อาหารเสริมที่วางขายในท้องตลาดนั้น มีอยู่หลากหลายรูปแบบ โดยเราสามารถแบ่งประเภทของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารได้หลายวิธี เช่น แบ่งตามชนิดของสารอาหาร, แบ่งตามวัตถุดิบ, แบ่งตามฟังก์ชันการทำงาน, แบ่งตามรูปแบบบรรจุภัณฑ์ ขึ้นอยู่กับว่าต้องการพิจารณาทางด้านใดเป็นหลัก
ประเภทของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีอะไรบ้าง ?
เมื่อพิจารณาตามเกณฑ์ ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ที่แบ่งตามชนิดของสารอาหารเป็นหลัก จะสามารถจัดกลุ่มของอาหารเสริมได้เป็น 6 กลุ่มดังนี้
-
วิตามินรวม
วิตามิน (Vitamins) เป็นโคเอนไซม์สำคัญ ที่จะช่วยให้ปฏิกิริยาชีวเคมีต่าง ๆ ในร่างกาย เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ มีจำหน่ายในหลายรูปแบบ เช่น วิตามินพลัสที่ผสมในเครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ, บาร์วิตามิน, วิตามินชงดื่มบรรจุซอง ซึ่งสำหรับวิตามินที่ละลายในไขมัน (Fat Soluble Vitamins) อันได้แก่ วิตามิน A, D, E, K ทาง อย. ได้จัดให้เป็นยาอันตราย ที่ต้องสั่งจ่ายโดยแพทย์หรือเภสัชกรเท่านั้น
-
แร่ธาตุ
ร่างกายมีความต้องการแร่ธาตุ (Minerals) ในแต่ละวันไม่มากนัก แต่ก็ไม่สามารถขาดได้ ข้อมูลจากเอกสารปริมาณสารอาหารอ้างอิงที่ควรได้รับประจำวันสำหรับคนไทย พ.ศ.2563 (DRI) ของกรมอนามัย แนะนำว่า มีแร่ธาตุ 8 ชนิดที่ควรบริโภคทุกวันได้แก่ แคลเซียม, ฟอสฟอรัส, แมกนีเซียม, เหล็ก, ไอโอดีน, สังกะสี, ซีลีเนียม และฟลูออไรด์
-
กรดอะมิโน
กรดอะมิโน (Amino Acids) เป็นประเภทของผลิตภัณฑ์เสริมอาหารอีกชนิด ที่ร่างกายต้องการ เพราะมีส่วนสำคัญในการสร้างกล้ามเนื้อและซ่อมแซมเนื้อเยื่อ โดยเฉพาะกรดอะมิโนจำเป็น 9 ชนิดที่ร่างกายสร้างเองไม่ได้ ได้แก่ Histidine, Isoleucine, Leucine, Lysine, Methionine, Phenylalanine, Threonine, Tryptophan, Valine ซึ่งคนที่ได้รับโปรตีนไม่เพียงพอ อย่างผู้ป่วยโรคเรื้อรัง, มีอาการแพ้ถั่ว, คนที่ไม่ทานเนื้อสัตว์, คนที่ต้องการสร้างกล้ามเนื้อ อาจจำเป็นต้องได้รับกรดอะมิโนเพิ่ม
-
กรดไขมัน
กรดไขมัน (Fatty Acids) มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง, ลดไตรกลีเซอร์ไรด์, ลดไขมันแอลดีแอล (LDL), ป้องกันการเกาะตัวของเกล็ดเลือด และยังช่วยให้วิตามินที่ละลายในไขมันดูดซึมได้ดีขึ้นด้วย ซึ่งกรดไขมันไม่อิ่มตัวหลายสาย (Polyunsaturated Fatty Acids, PUFAs) อย่างกรดไขมันโอเมกา-3 (Omega-3) ได้แก่ DHA, EPA, ALA และกรดไขมันโอเมกา-6 (Omega-6) ทั้งกรดไลโนเลอิก (Linoleic acid) และกรดอะราคิโดนิก (Arachidonic acid) เป็นกรดไขมันที่กำลังได้รับความนิยมสูง
-
ผลผลิตจากพืช
สารสกัดและผลิตภัณฑ์ที่สกัดจากพืช เป็นอาหารเสริมอีกชนิดที่คนรักสุขภาพกำลังให้ความสนใจ เพราะมีสารสกัดจากธรรมชาติสูง ทำให้โอกาสสัมผัสสารเคมีลดลง ตัวอย่างเช่น น้ำมันอีฟนิ่งพริมโรส (Evening Primrose Oil) ที่ช่วยบำรุงผิวพรรณและบรรเทาปวด, กลูโคแมนแนน (Glucomannan) จากหัวบุก ช่วยลดการดูดซึมน้ำตาล, โอลิโกฟรุกโตส (Oligofructose) ซึ่งเป็นไฟเบอร์ไม่ละลายน้ำ ช่วยให้ขับถ่ายได้ดีขึ้น, เพคติน (Pectin) ที่สกัดจากเปลือกผลไม้ ที่นิยมนำมาทานเพื่อควบคุมน้ำหนัก ลดระดับน้ำตาลในเลือด รวมถึงช่วยลดอาการท้องผูกด้วย
-
ผลผลิตจากสัตว์
มีอาหารเสริมจำนวนมาก ที่สกัดได้จากส่วนต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น อาบาโลนคอลลาเจนจากหอยเป๋าฮื้อ, คอลลาเจนไทพ์ทูจากกระดูกอ่อนไก่, แคลเซียมจากเปลือกหอยนางรม, ไคโตซานสกัดจากเปลือกกุ้ง ที่อาจช่วยดักจับไขมันในร่างกายได้
รูปแบบอาหารเสริม ที่ได้รับความนิยมในท้องตลาด
- อัดเม็ด : รูปแบบยอดนิยมของวิตามินรวม สามารถแบ่งครึ่งได้ง่าย
- แคปซูล : กลืนง่ายกว่าแบบเม็ด และรสขมไม่ติดลิ้น
- ซอฟต์เจล : นิยมบรรจุอาหารเสริมที่เป็นของเหลว โดยห่อหุ้มด้วยเจลาติน
- ผงชงดื่ม : มักเข้มข้นกว่าแบบเม็ด ดูดซึมง่าย เหมาะสำหรับคนที่กลืนลำบาก
- บาร์ : เป็นรูปแบบอาหารเสริม ที่ใส่สารอาหารได้หลากหลาย รสชาติอร่อย
- เครื่องดื่มเพื่อสุขภาพ : กลืนง่าย ดูดซึมง่าย แบ่งดื่มได้
สรุป
ถึงตอนนี้คงพอเห็นภาพรวมมากขึ้นว่า ประเภทของผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร มีอะไรบ้างและรูปแบบไหนที่กำลังได้รับความนิยมในท้องตลาด ซึ่งควรเลือกซื้อให้ตรงกับความต้องการ แล้วเสริมเฉพาะในส่วนที่ขาด หรือที่ทานอาหารได้ไม่เพียงพอ โดยควรเลือกรูปแบบให้เหมาะกับความสามารถในการเคี้ยวกลืนด้วย