การใช้ประโยชน์จากกัญชาในทางการแพทย์ จะช่วยเพิ่มทางเลือกในการดูแลรักษาผู้ป่วย โดยเฉพาะคนที่นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, ปวดประสาท, มีผิวหนังอักเสบ รวมถึงผู้ป่วยระยะสุดท้าย ที่เลือกดูแลแบบประคับประคอง แต่ในอีกแง่หนึ่ง โทษของกัญชาก็เป็นสิ่งที่ควรตระหนักเช่นกัน เพราะหากร่างกายไม่สมบูรณ์อยู่เดิม หรือใช้กัญชาเกินขนาด อาจเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
โทษของกัญชาและกัญชง กระทบกับร่างกายหลายระบบ
สารสกัดกัญชา กัญชงนั้น เป็นสารที่อยู่ในกลุ่มเดียวกัน แต่กัญชาจะมีสารเมาหรือ THC (Tetrahydrocannabinol) มากกว่า ในขณะที่กัญชงจะมีสารต้านเมาหรือ CBD (Cannabidiol) สูงกว่า และมีสาร THC น้อย อย่างไรก็ตาม สารทั้งสองชนิดสามารถออกฤทธิ์กับอวัยวะภายในได้หลายระบบ เพราะมนุษย์มีตัวรับรู้สารกลุ่มนี้ (Cannabinoid Receptors) อยู่ทั่วร่างกาย ทั้งตัวรับ CB1 ในสมองและระบบประสาทส่วนกลาง รวมถึงตัวรับ CB2 ที่พบมากในระบบภูมิคุ้มกันและทางเดินอาหารด้วย
โทษ – ผลข้างเคียงของกัญชา ระยะเฉียบพลัน
การเกิดพิษจากกัญชาแบบเฉียบพลัน (Acute Toxicity) มักพบในคนที่เพิ่งเริ่มใช้กัญชา ทั้งการใช้กัญชาทางการแพทย์ การผสมในอาหาร การชงดื่ม และการเสพเพื่อสันทนาการ รวมถึงคนที่ได้รับกัญชาเป็นประจำ แต่เพิ่มปริมาณให้สูงขึ้นด้วย โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ขนาดที่ใช้, รูปแบบการใช้, ความทนของแต่ละคน, โรคประจำตัว, ยาที่ใช้เป็นประจำ โดยอาการที่พบบ่อยได้แก่ มือสั่น, กระสับกระส่าย, พูดไม่ชัด, กล้ามเนื้ออ่อนแรง, ใจสั่น, หัวใจเต้นผิดจังหวะ, เจ็บหน้าอก, หายใจลำบาก, ปวดท้อง, คลื่นไส้, อาเจียน บางรายมีอาการรุนแรง จนกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด และไตวายเฉียบพลันได้เลย
โทษ – ผลข้างเคียงของกัญชา ระยะเรื้อรัง
ระบบประสาท
สารสกัดกัญชา จะออกฤทธิ์ต่อระบบประสาทโดยตรง เพราะมีตัวรับรู้ (CB1 Receptors) จำนวนมากอยู่ในสมอง อาจทำให้ควบคุมร่างกายไม่ได้, กระตุก, เดินเซ, สติรับรู้น้อยลง, ตัดสินใจผิดพลาด, อารมณ์แปรปรวน, ก้าวร้าว, ประสาทหลอน ที่สำคัญคือ อาจติดอยู่กับอารมณ์เคลิ้มสุข (Euphoria) จนกลายเป็นการติดยาในที่สุด
ระบบทางเดินอาหาร
หากใช้กัญชาเป็นเวลานาน โดยเฉพาะในกลุ่มที่ใช้นานกว่า 2 ปี อาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนอย่างรุนแรง (Cannabinoid Hyperemesis Syndrome, CHS) เพราะร่างกายตอบสนองกับสารสกัด THC เปลี่ยนไป จากที่เคยออกฤทธิ์ยับยั้งการคลื่นไส้อาเจียน กลายเป็นกระตุ้นอาการแทน
ระบบทางเดินหายใจ
ผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว ที่เกิดจากการสูบกัญชา ไม่แตกต่างจากการสูบบุหรี่เท่าใดนัก กล่าวคือเพิ่มโอกาสเกิดมะเร็งของทางเดินหายใจ และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (Chronic Obstructive Pulmonary Disease, COPD) หรือที่หลายคนรู้จักในชื่อ โรคถุงลมโป่งพอง
ระบบหัวใจและหลอดเลือด
โทษของกัญชาเมื่อใช้อย่างต่อเนื่อง คือจะทำให้เส้นเลือดหดเกร็ง จนตีบแคบลง เป็นเหตุให้เลือดไหลเวียนไม่ดี ซึ่งจะเพิ่มความเสี่ยงของการขาดเลือดตามอวัยวะต่าง ๆ ได้ มีการศึกษาพบว่า 3.2% ของคนที่ได้รับกัญชา จะมีอาการกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โดยความเสี่ยงของการเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจตาย จะเพิ่มขึ้นถึง 4.8 เท่า ภายใน 60 นาทีหลังสารสกัดกัญชาเข้าสู่ร่างกาย
ระบบภูมิคุ้มกัน
ผลข้างเคียงของกัญชาอย่างหนึ่งที่สำคัญ คือมีผลกดภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเฉพาะเซลล์เม็ดเลือดขาว เพราะเซลล์ในระบบนี้มีตัวรับรู้ (CB2 Receptors) ที่ตอบสนองต่อกัญชา กัญชงจำนวนมาก ดังนั้นคนที่ใช้กัญชาต่อเนื่องยาวนาน จึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อได้ง่ายกว่า และหายยากกว่าคนทั่วไป
ระบบสืบพันธุ์
การใช้กัญชาเป็นเวลานาน อาจทำให้เกิดความผิดปกติของระบบสืบพันธุ์ อย่างเช่นภาวะมีบุตรยาก ซึ่งในเพศหญิงเกิดจากการที่ไข่ตกน้อยลง และประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ ส่วนเพศชายพบว่า จะมีเชื้ออสุจิน้อยลง
สรุป
ภาวะแทรกซ้อน อาการไม่พึงประสงค์ ผลข้างเคียง โทษของกัญชา เป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึงเสมอ เมื่อเลือกดูแลร่างกายด้วยกัญชา เพราะหากรู้ไม่เท่าทัน ไม่ได้ระมัดระวัง ไม่ได้สังเกตถึงความผิดปกติ มีโอกาสเสี่ยงที่จะทำให้เกิดความผิดปกติ จนเป็นอันตรายต่อชีวิตได้