กัญชาเป็นพืชสมุนไพรที่มีสรรพคุณทางยาสามารถรักษาโรค ต่างๆ ได้ในปัจุบันทางการแพทย์ได้นำสารกัดมาทดลองเพื่อนำไปรักษาคนป่วย แต่ก็ต้องศึกษาก่อนนำมาใช้เพื่อประสิทธิภาพที่ดีควรเข้ารับการปรึกษาแพทย์เพื่อประเมินภาวะสุขภาพเบื้องต้นคัดกรองข้อห้ามและข้อควรระวังต่างๆ ควรเลือกใช้ผลิตภัณฑ์กัญชาทางการแพทย์อย่างเหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละรายสรรพคุณของกัญชา สมุนไพรสำหรับรักษาโรคต่าง ๆ มีอะไรกันบ้างไปดูกัน!!
สรรพคุณของกัญชาสำหรับรักษาโรคมีอะไรกันบ้าง?
กัญชาทางการแพทย์ ตามนิยามของกรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุขหมายถึง “ สิ่งที่ได้จากการสกัดพืชกัญชา เพื่อนำมาใช้ทางการแพทย์และการวิจัย ไม่ได้หมายถึงกัญชาที่ยังคงมีสภาพเป็นพืช ” ซึ่งข้อมูลเพิ่มเติมจากแพทยสภาระบุว่า ไม่แนะนำให้ใช้สารสกัดกัญชา ที่ไม่ทราบขนาดของสาร THC และ CBD ที่ชัดเจน เพราะอาจทำให้ได้รับ THC เกินขนาด และปัจจุบันเรายังไม่ทราบถึงผลเสียของการใช้งานในระยะยาว ซึ่งถ้าหากมียาขนานอื่นที่รักษาได้ผลดีอยู่แล้ว ไม่แนะนำให้ใช้กัญชา โดยเฉพาะการใช้งานแบบต่อเนื่อง ระยะยาว
สถาบันกัญชาทางการแพทย์แนะนำว่า อาการเจ็บป่วยที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์จากกัญชารักษาโรคด้วยตนเอง ได้แก่ นอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, ปวด และอาการทางผิวหนัง ส่วนการรักษาด้วยกัญชา ที่กรมการแพทย์ระบุว่าได้ประโยชน์ เพราะมีหลักฐานทางวิชาการสนับสนุนชัดเจน ได้แก่ ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากเคมีบำบัด, ภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง, โรคลมชักที่รักษายาก, ภาวะปวดประสาท, ภาวะเบื่ออาหารในผู้ป่วยเอดส์ และการดูแลแบบประคับประคอง ส่วนโรคที่น่าจะได้ประโยชน์ แต่ข้อมูลวิจัยยังมีอยู่จำกัด เช่น โรคพาร์กินสัน, โรคอัลไซเมอร์, โรควิตกกังวล, โรคปลอกประสาทอักเสบ
นอนไม่หลับ

อาการนอนไม่หลับ (Insomnia) พบได้บ่อยในวัยทำงานและวัยสูงอายุ จนอาจทำให้หลับแล้วตื่นกลางดึก ตื่นเร็วก่อนกำหนด หรือเริ่มต้นหลับยาก มีการศึกษาขนาดเล็กที่ออสเตรเลียพบว่า การใช้กัญชารักษาโรคนอนไม่หลับขนาด 0.5 มิลลิลิตร 1 หยด ก่อนนอน 1 ชั่วโมง ช่วยลดความรุนแรงของการนอนไม่หลับได้ โดยทำให้หลับนานขึ้นเฉลี่ย 65 นาที เริ่มหลับได้เร็วขึ้น 8 นาที ส่งผลให้คุณภาพการนอนโดยรวมดีขึ้นกว่าเดิม
เบื่ออาหาร
มีการนำกัญชา มาเป็นยากระตุ้นความอยากอาหารตั้งแต่สมัยโบราณ ทำให้อยากทานของหวาน ช่วยให้ทานข้าวได้มากขึ้น เน้นการปรุงใบกัญชาในอาหารที่มีเครื่องเทศเป็นส่วนผสม ซึ่งกรมการแพทย์ แนะนำให้ใช้ในผู้ป่วยเอดส์ที่มีภาวะเบื่ออาหาร จนน้ำหนักตัวน้อย ในรูปแบบของยาแคปซูล THC สังเคราะห์ ขนาด 2.5 มิลลิกรัมต่อวัน สูงสุดไม่เกิน 10 มิลลิกรัมต่อวัน แบ่งให้วันละ 2 ครั้ง ประมาณ 1 ชั่วโมงก่อนมื้ออาหาร
ปวดประสาท

อาการปวด โดยเฉพาะอาการปวดจากระบบประสาท (Neuropathic Pain) สามารถใช้สมุนไพรควบคุมอย่างกัญชารักษาได้ โดยสถาบันกัญชาทางการแพทย์ แนะนำให้นำใบกัญชา 1 – 2 ใบ มาคั่วไฟอ่อน ๆ แล้วชงกับน้ำอุ่น เพื่อดื่ม 1 ครั้งก่อนนอน ทุก 3 วัน แล้วค่อย ๆ เพิ่มเป็นวันละ 2 – 4 ครั้ง ห่างกัน 6 – 8 ชม. ซึ่งทางแพทย์แผนปัจจุบัน แนะนำให้ใช้กัญชารักษาโรค ในกรณีที่ใช้ยาแก้ปวดอื่นแล้วแต่ยังคงปวดอยู่ โดยใช้อัตราส่วนความเข้มข้นของ THC : CBD = 1 : 1 ขนาดยาสูงสุดไม่ควรเกิน 30 มิลลิกรัมต่อวัน
ผิวหนังอักเสบ
เนื่องจากกัญชามีสารต้านอนุมูลอิสระที่มีประสิทธิภาพ จึงสามารถนำมารักษาอาการอักเสบของผิวหนังได้ เช่น อาการคันจากผิวหนังอักเสบ, อาการบวม, สิวอักเสบ, มีรังแค โดยให้นำใบกัญชาที่คั่วแล้ว มาหุงกับน้ำมันมะพร้าวด้วยไฟปานกลาง แล้วใช้ทาบริเวณที่มีอาการวันละ 3 – 4 ครั้ง แต่หากใช้นานเป็นเดือนแล้วไม่หาย แนะนำให้พบแพทย์แผนปัจจุบัน
คลื่นไส้อาเจียน
สรรพคุณกัญชาอย่างหนึ่งที่กรมการแพทย์แนะนำให้ใช้คือ อาการคลื่นไส้อาเจียน ที่เกิดจากยาเคมีบำบัด ในกรณีที่รักษาด้วยวิธีอื่นแล้วไม่ได้ผล โดยไม่แนะนำให้ใช้กับการคลื่นไส้อาเจียนทั่วไป หรือหญิงตั้งครรภ์ที่มีอาการแพ้ท้อง ปริมาณที่แนะนำคือ Dronabinol 5 mg/m2 ทั้งก่อนและหลังให้ยาเคมีบำบัด ซึ่งไม่ควรเกิน 4 – 6 โดสต่อวัน
กล้ามเนื้อหดเกร็ง
มีข้อมูลวิจัย เกี่ยวกับการใช้กัญชารักษาโรคภาวะกล้ามเนื้อหดเกร็ง (Spasticity) และอาการปวด ในโรคปลอกประสาทเสื่อมแข็งหรือโรคเอ็มเอส (Multiple Sclerosis, MS) แต่ยังไม่มีข้อมูลสนับสนุนเพียงพอ ที่จะนำมารักษาอาการอื่น เช่น อาการสั่น, เห็นภาพซ้อน, ท้องผูก, กลั้นปัสสาวะไม่อยู่, ปัสสาวะไม่สุด ซึ่งการรักษาตามวิธีมาตรฐานที่เฉพาะเจาะจงกับโรค ก็ยังมีค่อนข้างจำกัดเช่นกัน
โรคลมชัก
โรคลมชักที่รักษายากในเด็ก และโรคลมชักที่ดื้อต่อการรักษา (Intractable epilepsy) ด้วยยามากกว่า 2 ชนิดขึ้นไป หากต้องการใช้กัญชารักษาโรค ควรอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์เฉพาะทางระบบประสาท ซึ่งจะพิจารณารักษาสำหรับบางกรณี เช่น ผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี, ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยวิธีมาตรฐาน, ทนผลข้างเคียงของยารักษาโรคลมชักไม่ได้, มีความผิดปกติทางจิตร่วมด้วย
โรคมะเร็ง
ข้อมูลสำหรับการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อรักษาโรคมะเร็งยังไม่ชัดเจน จึงอาจเริ่มใช้ในกรณีต่อไปนี้
- ไม่มีวิธีรักษาที่จำเพาะต่อโรคแล้ว
- ใช้ยาแผนปัจจุบันรักษาเต็มที่แล้ว แต่ไม่มีการตอบสนองในทางที่ดีขึ้น
- เป็นการดูแลแบบประคับประคอง ในระยะสุดท้าย
ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งประเทศไทย ฯ แนะนำให้ใช้กัญชา เป็นยาเสริมร่วมกับยามาตรฐาน เช่น ได้รับยากลุ่มโอปิออยด์ (เช่น มอร์ฟีน) เต็มที่แล้ว แต่ไม่สามารถระงับอาการปวดได้ เพราะหากเริ่มใช้สารสกัดกัญชาตั้งแต่ต้น อาจทำให้ผู้ป่วยมะเร็งเสียโอกาสในการรักษาด้วยวิธีมาตรฐานที่มีประสิทธิภาพได้ โดยต้องระวังว่า ปัจจุบันข้อมูลเกี่ยวกับขนาดของยาที่ใช้ยังไม่เพียงพอ ความเสี่ยงต่อการได้รับยาเกินขนาดอาจเพิ่มขึ้น ซึ่งส่งผลให้ความสามารถในการตัดสินใจ และสติรับรู้ลดลงได้