เทรนด์กัญชารักษาโรค กำลังเป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงเป็นวงกว้าง หลายคนอาจเคยได้ยินเรื่องประโยชน์กัญชาที่มีอยู่อย่างหลากหลาย ในขณะเดียวกัน ก็มีผลข้างเคียงหรือโทษที่รุนแรงเช่นกันหากใช้ผิดวิธี ดังนั้นการทราบข้อมูลพื้นฐานเกี่ยวกับสารสกัดกัญชา และโรคที่สามารถใช้กัญชารักษาได้ ก็จะช่วยให้รับฟังข้อมูลข่าวสารได้อย่างเข้าใจมากขึ้น
ระบบกัญชารักษาโรคตามธรรมชาติ ซ่อนอยู่ในร่างกายทุกคน
ร่างกายมนุษย์ เปรียบเหมือนเครื่องจักรขนาดใหญ่ ที่มีระบบปรับสมดุลภายในอัตโนมัติ เช่น ถ้าเรากินจนเกินอิ่ม จะเกิดการหลั่งฮอร์โมนเลปตินไปที่สมอง เพื่อให้เราหยุดกิน หรือถ้าเราเดินขึ้นภูเขาสูง อากาศเบาบาง สมองก็จะสั่งระบบหายใจ ให้ทำงานเร็วขึ้นแบบอัตโนมัติ เพื่อรักษาระดับออกซิเจนในเลือดให้เพียงพอ ซึ่งอีกระบบหนึ่งที่น่าสนใจเป็นอย่างมากคือ ระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid System, ECS) หรือระบบกัญชาตามธรรมชาติ ที่มีอยู่ในร่างกายของเราทุกคนมาตั้งแต่เกิด ซึ่งจะช่วยรักษาสมดุลของระบบต่าง ๆ และช่วยป้องกันการเกิดความผิดปกติ เพื่อให้ร่างกายทำงานได้อย่างสมบูรณ์ เช่น ทำให้รู้สึกมีความสุขเมื่อออกกำลังกาย, ควบคุมความเครียด, บรรเทาความเจ็บปวด, ปรับอุณหภูมิ เป็นต้น
โดยสารสื่อประสาทที่ร่างกายใช้ในระบบ ECS มีชื่อว่า สารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ (Endocannabinoid) ออกฤทธิ์คล้ายกับ สารไฟโตแคนนาบินอยด์ (Phytocannabinoid) ที่พบในสมุนไพรควบคุมอย่างกัญชา ซึ่งสามารถจับกับตัวรับสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoid Receptors) ตัวเดียวกันได้อย่างพอดี แปลว่า ถ้าเรารับกัญชาเข้าร่างกาย ระบบกัญชาตามธรรมชาติ (ECS) ของเรา ก็พร้อมตอบสนองทันที เพราะสารสกัดจากกัญชานั้น มีความคล้ายคลึงกับสารเอ็นโดแคนนาบินอยด์ ที่ร่างกายผลิตขึ้นเองเป็นอย่างมาก
THC – CBD สารสกัดกัญชาตัวสำคัญ
สารออกฤทธิ์ในกัญชามีอยู่มากมายหลายชนิด เช่น เทอร์ปีน (Terpenes) ที่ทำให้กลิ่นและรสของกัญชาต่างกัน, ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ที่เป็นสารต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดการอักเสบ, กรดไขมันโอเมกา ที่ช่วยบำรุงสมองและลดไขมันในเส้นเลือด แต่สารสำคัญที่สุด ที่ส่งผลต่อสรรพคุณกัญชาเป็นอย่างมากคือ สารกลุ่มไฟโตแคนนาบินอยด์ (Phytocannabinoids) ซึ่งมีอยู่กว่า 500 ชนิดย่อย แต่สองตัวหลักที่น่าสนใจคือ เตตราไฮโดรแคนนาบินอยด์ หรือทีเอชซี (Tetrahydrocannabinol, THC) และ แคนนาบิไดออล หรือซีบีดี (Cannabidiol, CBD)
สารสกัดกัญชา THC – สารเมา
ในกัญชาสดจะมีสาร Tetrahydrocannabinolic Acid (THCA) ซึ่งยังไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ไม่ทำให้เมา แต่เมื่อถูกแสงหรือได้รับความร้อน 100 °C นาน 3 ชั่วโมง หรือ 200 °C เพียง 1 – 2 วินาที จะทำให้ THCA เปลี่ยนรูปเป็นสาร THC ที่มีผลต่อการทำงานของระบบประสาท เราจึงสามารถนำกัญชารักษาโรคนอนไม่หลับ และเบื่ออาหารได้ แต่ต้องใช้ด้วยความระมัดระวัง เพราะอาจทำให้มึนเมา และเสี่ยงต่อการเสพติดได้เช่นกัน
ข้อมูลจากสำนักงานว่าด้วยยาเสพติดและอาชญากรรมแห่งสหประชาชาติ (UNODC) ระบุว่า แต่ละส่วนของกัญชา จะให้สารสกัดกัญชาที่มีความเข้มข้นต่างกัน อย่างที่ช่อดอกจะมี THC 10 – 12% ส่วนใบมี 1 – 2% และที่ลำต้นมี 0.1 – 0.3 % ซึ่งหากจะนำมาแปรรูปใช้เอง ต้องไม่ลืมคำนึงถึงประกาศกระทรวงสาธารณสุข ที่อนุญาตให้ใช้ THC ในระดับที่ไม่เกิน 0.2% ด้วย
สารสกัดกัญชา CBD – สารต้านเมา
CBD เป็นสารสำคัญอีกชนิดที่มีประสิทธิภาพในการรักษาโรค เช่น ลดความวิตกกังวล, ลดอาการซึมเศร้า, รักษาอาการชัก, บรรเทาอาการผิวหนังอักเสบ โดยไม่มีผลต่อจิตประสาท จึงไม่เสี่ยงต่อการเสพติด ดังนั้นในแง่ของกัญชาทางการแพทย์ จึงต้องการฤทธิ์กัญชารักษาโรคที่มี CBD สูงและ THC ต่ำ แต่ปรากฏว่า CBD ในกัญชาจะมีแค่ประมาณ 0.3% เท่านั้น สมมติว่า คุณต้องการสรรพคุณกัญชา เพื่อรักษาความวิตกกังวล จึงนำช่อดอกกัญชาสดมาใช้ ในนั้นอาจมี THC สูงถึง 12% ขณะที่มี CBD เพียง 0.3% แปลว่าความเสี่ยงที่จะมึนเมาหรือเสพติด อาจมากกว่าโอกาสที่จะรักษาหาย เพราะมีระดับ THC สูงกว่า CBD ถึง 40 เท่า แต่นี่ก็เป็นแค่เพียงตัวอย่างเท่านั้น
ในทางปฏิบัติความเข้มข้นของ THC และ CBD ในกัญชา ยังขึ้นอยู่กับปัจจัยของสายพันธุ์, ถิ่นที่ปลูก, ดิน, วิธีการปลูก, การเก็บรักษาด้วย เพราะฉะนั้นหากไม่ได้นำกัญชามาสกัด ด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ หรืออุตสาหกรรมแปรรูปก่อน จึงเป็นไปได้ยากมากที่จะทราบถึงความเข้มข้นที่แท้จริงของ THC และ CBD ทำให้การใช้กัญชารักษาโรคตามบ้านเรือนทั่วไป ยังมีความเสี่ยงของการได้รับ THC เกินขนาดอยู่มาก
กัญชาทางการแพทย์ หมายถึงการใช้สารสกัดกัญชาเท่านั้น ไม่นับรวมการใช้ช่อดอก ใบ หรือส่วนประกอบอื่นแบบสด ซึ่งควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ระบุความเข้มข้นของ THC (สารเมา) และ CBD (สารต้านเมา) อย่างชัดเจน เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผลข้างเคียงจาก THC เกินขนาด รวมถึงการนำกัญชารักษาโรคต่าง ๆ ควรอยู่ภายใต้การควบคุมของแพทย์ที่ผ่านการอบรมมาโดยเฉพาะ เพื่อให้เกิดความปลอดภัยสูงสุด และได้รับประโยชน์สูงสุดจากการรักษา