นโยบายกัญชาเสรี ล่าสุด ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในสังคมอย่างรวดเร็ว ในหลากหลายด้าน ซึ่งทางที่ดีที่สุด ที่จะป้องกันไม่ให้นำกัญชาไปใช้ในทางที่ผิด หรือเกิดผลข้างเคียงจากการรู้เท่าไม่ถึงการณ์ คือเตรียมพร้อมรับมือด้วยการให้ความรู้ และสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง
ทำความรู้จัก นโยบายกัญชาเสรี ล่าสุด
ตั้งแต่ 19 ก.พ. 62 ที่พระราชบัญญัติยาเสพติดให้โทษ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2562 ประกาศใช้ ส่งผลให้กัญชาทางการแพทย์และการวิจัย ถูกใช้อย่างเสรีมากขึ้น จนมาถึงการปลดล็อกกัญชาเสรี ล่าสุด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 65 อาจเรียกได้ว่า เสรีมากกว่าหลายประเทศทั่วโลก เพราะไทยได้ถอดทุกส่วนของพืชกัญชา กัญชง (ที่มีสาร THC ไม่เกิน 0.2%) ออกจากรายการสารเสพติดให้โทษ ส่งผลให้กัญชาไม่ใช่สิ่งผิดกฎหมายอีกต่อไป ในขณะที่หลายประเทศ ที่อนุญาตให้ครอบครองกัญชาเพื่อสันทนาการ ยังคงเรียกกัญชาว่า เป็นสารเสพติด โดยมีกฎหมายควบคุมอย่างชัดเจน
สามารถทำได้
- สูบกัญชาในพื้นที่ส่วนตัว
- ครอบครองกัญชา ที่สารสกัด THC ไม่เกิน 0.2%
- ปลูกกัญชาใช้เอง หรือทำเชิงพาณิชย์ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องจำนวน เพียงแต่ต้องแจ้งการปลูก แต่ก็เป็นเพียงแค่การขอความร่วมมือเท่านั้น ไม่ใช่การบังคับ เพราะกฎหมายควบคุมยังไม่แล้วเสร็จ
- กฎหมายกัญชา อนุญาตให้ขายส่วนของพืชกัญชา และสารสกัด THC ที่ไม่เกิน 0.2% ได้
- ประกอบอาหารขายได้ แต่ต้องไม่ใช้ช่อดอกหรือยอด โดยให้ใช้ส่วนของเมล็ดกัญชา, น้ำมันจากเมล็ดกัญชง, โปรตีนจากเมล็ดกัญชง, ลำต้น, เส้นใย, กิ่งก้าน, ราก และใบ
ไม่สามารถทำได้
- สูบกัญชาในที่สาธารณะ จนกลิ่นควันสร้างความรำคาญ
- จำหน่ายให้คนที่อายุน้อยกว่า 20 ปี
- ใช้ประโยชน์และจำหน่ายให้กับหญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร
- ครอบครองสารสกัดกัญชาที่ THC เกินกว่า 0.2% โดยไม่มีใบอนุญาต
- นำเข้ากัญชาทั้งต้นจากต่างประเทศ ยกเว้นเมล็ดพันธุ์
ต้องขออนุญาต
- ถ้าจะขายเมล็ดพันธุ์ กิ่งพันธุ์ และต้นกล้า ต้องขออนุญาตตาม พ.ร.บ.พันธุ์พืช
- การซื้อขายสารสกัดกัญชาที่ THC เกินกว่า 0.2% ต้องมีใบอนุญาตทั้งผู้ซื้อและผู้ขาย
- การผลิตและจำหน่าย ยา, อาหาร, ผลิตภัณฑ์สมุนไพร, เครื่องสำอาง จากกัญชงและกัญชา ต้องดำเนินการตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
การเปลี่ยนแปลงในสังคมที่น่าสนใจ
เป็นทางเลือก ที่คุ้มค่าในการรักษา ?
กัญชาทางการแพทย์ ถือเป็นทางเลือกใหม่ในการรักษา แต่ก็ยังมียาแผนปัจจุบันหลายขนาน ที่สามารถใช้รักษาได้อย่างมีประสิทธิภาพ อีกทั้งโรคที่ใช้กัญชารักษาได้ผลดี ยังมีค่อนข้างจำกัด เช่น ภาวะคลื่นไส้อาเจียนจากยาเคมีบำบัด, อาการปวดประสาท, การดูแลแบบประคับประคอง เพราะหลักฐานทางวิชาการยังไม่เพียงพอ ซึ่งต้องระวังการนำความเจ็บป่วยมาอ้าง เพื่อขอรับยาไปใช้ในทางที่ผิดด้วย
ช่วงสุญญากาศ ที่ครอบครองกัญชาได้เต็มที่
ภาพของต้นกัญชาหน้าบ้าน การค้าขายส่วนของกัญชา สารสกัดกัญชา และอาหารเครื่องดื่มสูตรกัญชา จะกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะประกาศปลดล็อกกัญชาเสรีแล้ว ถึงแม้จะระบุว่า อนุญาตให้ครอบครองสารสกัดกัญชาที่ THC ไม่เกิน 0.2% แต่ในความเป็นจริงแล้ว ช่อดอกและใบในกระถางกัญชาแต่ละบ้าน ย่อมมี THC สูงเกิน 0.2% แน่นอน แล้วจะควบคุมเรื่องเหล่านี้ได้รัดกุมมากน้อยเพียงใด ต้องติดตามกันในระยะยาว เพราะกฎหมายกัญชาที่คาดว่าจะใช้ควบคุมประเด็นนี้ ยังคงอยู่ในช่วงดำเนินการ
ความเสี่ยงในติดสารเสพติดชนิดอื่น
จากกฎหมายกัญชาเสรี ล่าสุดในหลายประเทศ มีการคาดการณ์อัตราการเติบโต ของการนำกัญชามาใช้ในเชิงสันทนาการระหว่างปี 2561 – 2566 อยู่ที่ 38.7% ซึ่งถือว่าเติบโตสูงมาก ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของการเสพติดให้สูงขึ้น จากรายงานของศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐ (CDC) มีการศึกษาพบว่า การใช้กัญชาเป็นจุดเริ่มต้น ที่จะเพิ่มความเสี่ยงในการใช้สารเสพติดอื่น อย่างโคเคนหรือเฮโรอีน ซึ่งอาจเชื่อมโยงไปสู่อุบัติเหตุจราจร หรือปัญหาอาชญากรรมในอนาคต
สรุป
กฎหมายกัญชาเสรี ล่าสุด เน้นส่งเสริมการใช้กัญชาทางการแพทย์ เพื่อเพิ่มทางเลือกในการรักษาให้กับผู้ป่วย ในขณะเดียวกัน ก็ยังสร้างผลกระทบในอีกหลายด้าน ซึ่งถือเป็นจุดเปลี่ยนผ่าน ที่สังคมต้องเรียนรู้ไปพร้อมกัน