ข้อมูลจากบันทึกประวัติศาสตร์ทั่วโลก ปรากฏเรื่องราวของกัญชา ที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินชีวิตมายาวนานกว่า 10,000 ปี ทั้งในประเทศจีนและอียิปต์ที่ถักทอเส้นใยกัญชา เพื่อนำมาใช้ประโยชน์อย่างหลากหลาย ที่อิตาลีมีการใช้ประโยชน์กัญชา ในการนำมาทำเชือกเดินเรือ บางประเทศในยุโรปนำไปถักเป็นเชือกล่าสัตว์ ส่วนที่อังกฤษนำกัญชามาเป็นสมุนไพรรักษาโรคซึมเศร้า รวมถึงตำราของแพทย์แผนไทย ที่มีกัญชารวมอยู่ในหลายตำรับเช่นกัน
ประโยชน์กัญชา นำมาจากส่วนไหน ?
กัญชา (Cannabis) เป็นพืชล้มลุกในตระกูล Cannabaceae ที่มีหลายสายพันธุ์ กระจายอยู่ตามถิ่นต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งมีทั้งชนิดที่ดอกตัวผู้ตัวเมียอยู่ต้นเดียวกัน และชนิดที่แยกกันอยู่คนละต้น มีอายุเฉลี่ยเพียงหนึ่งปีเท่านั้น โดยอุดมไปด้วยสารสำคัญกว่า 560 ชนิด อาทิเช่น Phytocannabinoids, Terpenoids, Flavonoids, Essential Oils จึงทำให้ประโยชน์กัญชามีอยู่มากมาย
ดอก
กัญชามักจะติดดอกในช่วง 90 – 120 วัน โดยจะออกดอกเป็นช่อ บริเวณปลายยอดและซอกใบ ซึ่งดอกของกัญชา จะเป็นที่อยู่ของสารสำคัญอย่างไตรโคม (Glandular Trichomes) หากมองแบบผิวเผิน จะคล้ายขนสีขาวบนดอกกัญชา โดยเฉพาะดอกเพศเมีย แต่เมื่อส่องด้วยกล้องจุลทรรศน์ จะเห็นเป็นต่อมลูกแก้วที่มีก้านชูอยู่ (Marihuana) ในระยะแรกจะเป็นสีใส จากนั้นกลายเป็นสีคล้ายนม แล้วเปลี่ยนเป็นสีอำพันในระยะสุดท้าย
ไตรโคมนี้จะมีสารเรซิน (Resin) ที่ประกอบด้วยสารแคนนาบินอยด์ (Cannabinoids) หลายชนิด โดยเฉพาะ THC (Tetrahydrocannabinol) ที่ทำให้มีอาการมึนเมาและ CBD (Cannabidiol) ที่ออกฤทธิ์เป็นสารต้านเมา จึงนิยมนำมาใช้สำหรับกัญชาทางการแพทย์ ส่วนเรซินที่แห้งลงจะกลายเป็นละอองกัญชา เมื่อนำไปหลอมรวมจะได้แฮช หรือก้อนยางกัญชา (Hashish) หากเอาไปสกัด จะได้เป็นผลิตภัณฑ์ในรูปของน้ำมันกัญชา (Hashish Oil) ออกมาแทน
ใบ

ใบกัญชามีรูปร่างเป็นแฉกคล้ายฝ่ามือ ขอบใบมีหยักเล็กคล้ายฟันเลื่อย เมื่อสร้างดอกแล้วจำนวนแฉกของใบจะลดลง ส่วนใหญ่มักจะเก็บใบอ่อนที่มีอายุประมาณ 2 เดือน เพราะเป็นช่วงที่มีสารสำคัญต่าง ๆ สูงสุด ทำให้ได้ใช้ประโยชน์กัญชาอย่างเต็มที่ โดยนิยมเคี้ยวสด, สกัดทำเป็นยาแคปซูล, ปรุงใส่อาหาร หรืออาจคั่วไฟชงกับน้ำอุ่น เพื่อทำเป็นน้ำกัญชารักษาโรคก็ได้ สำหรับคนที่ไม่เคยทาน แนะนำให้เริ่มจากปริมาณน้อย ๆ ประมาณ ½ หรือ 1 ใบก่อน เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียง ในระดับที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
เมล็ด

เมล็ดจะเติบโตได้เร็ว หลังจากกัญชาออกดอก 2 – 3 สัปดาห์ ลักษณะมันเงามีสีน้ำตาล เมื่อแห้งแล้วจะมีสีเทา ซึ่งฝั่งที่โดนแสงมักจะเริ่มสุกก่อน ภายในอุดมไปด้วยสารอาหารสำคัญหลายชนิด โดยเฉพาะแป้งและไขมันไม่อิ่มตัว เช่น กรดไขมันโอเมกา-3, กรดไลโนเลอิก (Linoleic Acid) ในกลุ่มกรดไขมันโอเมกา-6 ที่มีผลต่อการพัฒนาสมอง ปรับสมดุลภูมิคุ้มกัน ดูแลการแข็งตัวของเลือด ลดการอักเสบ สลายนิ่ว และลดระดับคอเลสเตอรอลในหลอดเลือด นับเป็นอาหารเพื่อสุขภาพยอดนิยมอีกชนิดเลยทีเดียว
ลำต้น
นอกจากดอกและใบกัญชาที่หลายคนรู้จักกันดีแล้ว ประโยชน์กัญชาส่วนหนึ่งยังแฝงอยู่ในส่วนของลำต้นด้วย ในช่วงแรกลำต้นจะยังอ่อนนิ่ม แต่เมื่อเริ่มแข็งแรงขึ้น ทั้งเปลือกด้านนอกและด้านใน จะถูกนำมาผ่านกรรมวิธี เพื่อผลิตเส้นใยไปใช้ประโยชน์ โดยคุณสมบัติที่โดดเด่นคือ เส้นใยจะค่อนข้างเหนียว ยืดหยุ่นน้อย แต่มีความแข็งแรงทนทานสูง ซึ่งการปลูกนั้นต้องพิถีพิถันทั้งการเลือกดิน, การให้น้ำ, การรับแสง, การตัดแต่งกิ่ง จึงจะได้เส้นใยที่ยาวและสมบูรณ์
ราก
มีบันทึกเกี่ยวกับการใช้กัญชาทางการแพทย์ มาตั้งแต่สมัยโบราณ ทั้งในจีน, เปอร์เซีย, ยุโรป, อเมริกาใต้, อินโดนีเซีย ซึ่งการใช้รากกัญชารักษาโรคมีอยู่หลายรูปแบบ เช่น นำรากมาต้มน้ำร้อนดื่ม, บดรากผสมกับไวน์แล้วดื่ม, บดผสมกับเนยแล้วนำมาพอก เพราะสามารถใช้รักษาอาการปวดข้อ, ข้ออักเสบ, ปวดเกาต์, แผลไฟไหม้, เป็นหนอง, ถ่ายพยาธิ, ตกเลือดหลังคลอดได้
รูปแบบการใช้ประโยชน์กัญชา
ผลิตเส้นใย
ประโยชน์กัญชาอย่างหนึ่ง ที่คนสมัยก่อนใช้กันมานานหลายพันปี คือการถักทอเป็นเครื่องนุ่งห่ม, กระดาษ, เชือก, กระสอบ, ถุงผ้า, รองเท้า โดยเส้นใยที่ได้จะออกสีเหลืองน้ำตาล สามารถระบายความร้อนได้ดี ส่วนเทคโนโลยีปัจจุบัน มีการนำเส้นใยกัญชามาแปรรูปเป็นฉนวนกันความร้อน, เสื้อเกราะกันกระสุน, ทำอิฐ, คอนกรีต หรือแม้แต่ไบโอพลาสติก (Bioplastic) ที่สามารถย่อยสลายได้
รักษาโรค
ตั้งแต่วันที่ 9 มิถุนายน 2565 หลังจากกระทรวงสาธารณสุข ประกาศปลดล็อกกัญชากัญชง (ที่มีค่า THC ไม่เกิน 0.2%) ออกจากความเป็นยาเสพติดอย่างสิ้นเชิง ทำให้กัญชาทางการแพทย์ได้รับความสนใจจากคนทุกเพศทุกวัย โดยเฉพาะการนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค ซึ่งคำแนะนำตามที่สถาบันกัญชาทางแพทย์ได้ระบุไว้ ได้แก่ รักษาอาการนอนไม่หลับ, เบื่ออาหาร, ปวด, ชาปลายประสาท, ผิวหนังอักเสบ นอกจากนี้ยังมีการศึกษา เกี่ยวกับการนำกัญชามารักษาอาการชักเกร็ง, อัลไซเมอร์, พาร์กินสัน, ต้อหิน, กระตุ้นภูมิคุ้มกัน, ระงับเซลล์มะเร็งอีกด้วย แต่ข้อมูลอาจยังไม่เพียงพอ ที่จะสรุปประสิทธิภาพและผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
นวดผ่อนคลาย
มีการนำน้ำมันกัญชามานวดบำบัดกันมากขึ้น ด้วยสรรพคุณของสารสกัดจากกัญชา ที่ช่วยลดอาการอักเสบ ลดปวด และลดบวมได้ จึงถูกนำมาใช้นวดผ่อนคลาย ลดอาการตึงและเจ็บกล้ามเนื้อ เมื่อประกอบกับน้ำหนักมือที่เกิดจากการนวด จะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนโลหิต เพิ่มเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อ ทำให้รู้สึกผ่อนคลายขึ้นกว่าเดิม
เครื่องสำอาง
กัญชาเป็นสมุนไพรรักษาโรคผิวหนังที่มีประสิทธิภาพ เพราะมีสารต้านอนุมูลอิสระชั้นดีอย่างสารฟลาโวนอยด์ จึงสามารถลดการอักเสบ, รักษาโรคผิวหนังอักเสบ (Eczema), รักษาสิวได้ เครื่องสำอางหลายแบรนด์ จึงนำสารสกัดจากกัญชาไปผสมในผลิตภัณฑ์หลายประเภท เช่น ลิปสติก, มาสคารา, ไฮไลต์, คอนทัวร์ เพื่อให้ช่วยฟื้นฟูและถนอมผิวในเวลาเดียวกัน
สกินแคร์
ในต่างประเทศ มีการใช้ประโยชน์กัญชา ในแง่ของการบำรุงผิวพรรณอย่างแพร่หลาย เพราะมีหลายการศึกษาที่แสดงให้เห็นว่า สารสกัดกัญชา อาจช่วยกระตุ้นการสร้างคอลลาเจนทั้งในผิวพรรณและกระดูก ซึ่งอาจช่วยชะลอริ้วรอย, เพิ่มความชุ่มชื้นให้ผิว, ปรับสภาพผิวให้เรียบเนียนขึ้น, ปกป้องผิวจากรังสียูวี และช่วยกระตุ้นการสร้างกระดูก เพื่อซ่อมแซมกระดูกหักได้
เมนูอาหารกัญชา
นอกจากกัญชาจะถูกนำมาใช้รักษาอาการเบื่ออาหาร ในผู้ป่วยบางกลุ่มแล้ว ปัจจุบันกัญชา ยังกลายมาเป็นอาหารเพื่อสุขภาพยอดนิยมอีกด้วย เพราะอุดมไปด้วยสารแคนนาบินอยด์, สารต้านอนุมูลอิสระ, โปรตีน, กรดไขมันโอเมกา, วิตามินอี โดยเมนูกัญชายอดนิยมได้แก่ ผัดกะเพรา, ไข่เจียวกัญชา, ต้มแซ่บซี่โครงหมู, พะโล้ ส่วนขนมหวานผสมกัญชาก็มีอยู่หลากหลาย เช่น ไอศกรีมกัญชา, คุกกี้กัญชา, ขนมปังกรอบกัญชา
เครื่องดื่มน้ำกัญชา
การใช้กัญชาทางการแพทย์ สามารถบริหารยาได้หลายรูปแบบ ขึ้นอยู่กับตำรับยาที่เลือกใช้ แต่อาจมีความยุ่งยาก ซับซ้อน ต้องมีเวลาพบแพทย์ ซึ่งอาจไม่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ชีวิตปัจจุบัน หลายคนจึงเลือกที่จะดื่มเครื่องดื่มกัญชา เพื่อให้ออกฤทธิ์เป็นสมุนไพรรักษาโรคแทน โดยมีทั้งชากัญชา, กาแฟอเมริกาโน่กัญชา, ลาเต้กัญชา, กัญชาคราฟต์โซดา, น้ำผึ้งมะนาวโซดา แต่ต้องเพิ่มความระมัดระวัง หากดื่มเครื่องดื่มกัญชา ที่ไม่มีฉลากระบุความเข้มข้นของสารสกัดที่ชัดเจน เพราะอาจทำให้ได้รับปริมาณ THC เกินขนาด จนเกิดอาการแน่นหน้าอก, ใจสั่น, กระวนกระวาย, เห็นภาพหลอน หรือหมดสติได้
สรุป
มนุษย์เรารู้จักประโยชน์กัญชามานานหลายพันปี ทั้งการนำเส้นใยมาทำสิ่งทอ, น้ำมันกัญชาบำบัดความเหนื่อยล้า และดูแลผิวพรรณ, น้ำกัญชารักษาโรค, ใบกัญชาปรุงอาหารเพิ่มรสชาติ ซึ่งสามารถนำส่วนประกอบมาใช้ได้เกือบทั้งต้น แต่ปัจจุบันข้อมูลวิจัยถึงประโยชน์และโทษ รวมถึงขนาดที่เหมาะสม สำหรับการรักษาโรคยังไม่ค่อยชัดเจน ดังนั้นจึงแนะนำให้ใช้กัญชาทางการแพทย์ด้วยความระมัดระวัง ซึ่งทางที่ดีที่สุด ควรอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ถึงจะปลอดภัยต่อสุขภาพและไม่เสี่ยงกระทำผิดกฎหมาย