ประเทศไทย มีความอุดมสมบูรณ์ด้านสมุนไพรมาช้านาน ตั้งแต่อดีตที่ใช้ประโยชน์หลักจากการนำมาปรุงเป็นอาหาร และยารักษาโรค จนปัจจุบันสมุนไพรได้กลายเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนตลาดส่งออก ที่มีมูลค่าสูงถึง 1.8 แสนล้านบาทแล้ว โดยกัญชง คือพืชสมุนไพรอีกชนิด ที่กำลังจะได้รับการส่งเสริมในเชิงการแพทย์ อุตสาหกรรม และส่งออกมากกว่าเดิม
กัญชง คืออะไร ?
กัญชงหรือเฮมพ์ (Hemp) เคยถูกจัดให้เป็นพืชตระกูลเดียวกับกัญชา ใช้ชื่อวิทยาศาสตร์เดียวกันว่า Cannabis sativa L. ต่อมานักพฤกษศาสตร์พบว่า มีความแตกต่างกันบางประการ จึงแยกกัญชงออกจากกัญชา แล้วเปลี่ยนชื่อวิทยาศาสตร์เป็น Cannabis sativa L.subsp. sativa ซึ่งตามประกาศกฎกระทรวง เรื่องการขออนุญาตและการอนุญาตผลิต จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครองซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภทที่ 5 เฉพาะเฮมพ์ พ.ศ. 2559 ระบุว่า เฮมพ์ คือพืชชนิดย่อยของกัญชา ที่มีสารเตตราไฮโดรแคนนาบินอล (Tetrahydrocannabinol, THC) ไม่เกิน 1% ในน้ำหนักแห้ง
กัญชงกับกัญชาต่างกันอย่างไร ?
แม้ว่ากัญชา กัญชงจะอยู่ในตระกูลเดียวกัน แต่ยังมีลักษณะและคุณสมบัติบางอย่างไม่เหมือนกัน ซึ่งส่วนสำคัญที่สุด ที่จะบอกได้ว่า กัญชงกับกัญชาต่างกันอย่างไร คือสารสกัด THC ที่เป็นสารออกฤทธิ์หลักนั่นเอง โดยกัญชาจะมีสารเมา หรือสารสกัด THC > 1% ในขณะที่กัญชงจะมีสาร THC ≤ 1% แต่กลับมีสาร CBD (Cannabidiol) หรือสารต้านเมาปริมาณมาก จึงนิยมนำมาสกัดเป็นสมุนไพรรักษาโรคมากกว่า
ในส่วนของลักษณะภายนอกนั้น กัญชงจะมีใบห่าง ลำต้นสูงมากกว่า 2 เมตร เปลือกไม้ลอกเหนียวง่าย ให้เส้นใยยาวคุณภาพสูง นิยมนำมาทำสิ่งทอ ในขณะที่กัญชาจะเตี้ยกว่า และบางสายพันธุ์มีลักษณะเป็นพุ่ม เปลือกไม่ค่อยเหนียว ลอกออกจากต้นยาก เส้นใยที่ได้จึงมีคุณภาพต่ำ แต่ช่อดอกจะมียางที่มีสารออกฤทธิ์ค่อนข้างมาก สรุปได้ว่า กัญชา กัญชง แยกกันที่ปริมาณ THC ซึ่งกัญชง ประโยชน์เน้นไปที่การใช้งานเส้นใย เพราะถึงจะมีสาร CBD สูง มี THC ต่ำ แต่กลับมียางที่ช่อดอกน้อย จึงสกัดทำยาได้น้อย ส่วนกัญชาจะมีช่อดอกที่มียางมาก (Marijuana) จึงเน้นการนำสารสกัดทั้ง THC และ CBD ไปใช้ประโยชน์ด้านกัญชาทางการแพทย์เป็นหลัก
กัญชง ประโยชน์มากมายในทุกวงการ
เส้นใยกัญชง
หากเปรียบเทียบกัญชา กัญชงแล้ว ในแง่ของการใช้ประโยชน์จากเส้นใย กัญชงจะได้รับความนิยมมากกว่า เพราะเปลือกจากลำต้นกัญชง คือแหล่งเส้นใยชั้นดี ที่มีความเหนียวนุ่ม แข็งแรงกว่าฝ้าย และดูดซับความชื้นได้ดีกว่าลินิน จึงนิยมนำมาทอเป็นเชือก, ด้าย, เครื่องนุ่งห่ม โดยเฉพาะประเทศญี่ปุ่น ที่นิยมนำมาตัดเป็นกิโมโน
เยื่อกระดาษ
เนื้อไม้ของต้นกัญชง นิยมทำมาผลิตเป็นเยื่อกระดาษ ซึ่งเหมาะสำหรับการทำกระดาษห่อของ และทำถุงกระดาษชั้นเดียว
วัสดุก่อสร้าง
แกนของต้นกัญชง สามารถนำไปทำพาร์ติเคิลบอร์ด, เฮมพ์กรีต, เฮมพ์บล็อก, หลังคา และฉนวนกันความร้อนได้อย่างดี
พลังงานชีวมวล
นอกจากนี้แกนต้นกัญชง คืออีกหนึ่งทางเลือกสำหรับพลังงานชีวมวล สามารถนำไปแปรรูปทำถ่านไม้ น้ำมันเชื้อเพลิง และแอลกอฮอล์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
สมุนไพรรักษาโรค
กัญชา กัญชง ต่างมีประโยชน์ในการรักษาโรคเหมือนกัน แต่กัญชงจะมีสารสกัด CBD และน้ำมันกัญชง ที่นิยมนำมาใช้เป็นสมุนไพรรักษาโรค บำบัดความเครียด และลดการอักเสบของผิวหนังมากกว่า
ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ
เมล็ดกัญชง มีส่วนประกอบของโปรตีน กรดไขมันมันโอเมกา-3 และโอเมกา-6 ปริมาณมาก สามารถนำมาใส่ในอาหาร, เครื่องสำอาง, สกินแคร์ได้มากมาย เช่น น้ำมันพืช, ซอส, ขนมปัง, สบู่, โลชัน
สรุป
กัญชง คือหนึ่งในพืชเศรษฐกิจ ที่สามารถนำส่วนประกอบมาใช้ประโยชน์ได้ทั้งต้น โดยเฉพาะในส่วนของเส้นใยและสารสกัด CBD โดยสามารถแยกกับกัญชาได้จากความเข้มข้นของสาร THC ซึ่งกัญชงจะมีไม่เกิน 1% ในขณะที่ถ้าเป็นกัญชาจะมีมากกว่า และมีโอกาสเสพติดได้