การดูแลสุขภาพของคนที่มีโรคประจำตัว นอกจากจะต้องพบแพทย์ตามนัดอย่างสม่ำเสมอแล้ว การดูแลเรื่องอาหาร, การออกกำลังกาย, การพักผ่อน และการทานยา เป็นปัจจัยสำคัญ ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิต และยืดอายุให้ยืนยาวกว่าเดิม
พฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่แนะนำ
ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม
จากการศึกษาของเดนมาร์กแสดงว่า โปรแกรมออกกำลังกาย ที่เน้นสร้างความทนทาน (Endurance Exercise) เน้นพัฒนาระบบหายใจและหลอดเลือด จะช่วยยืดอายุให้ยืนยาวได้ โดยอาจเริ่มจากเดินเร็ว, จ๊อกกิ้ง, ปั่นจักรยาน ประมาณ 10 นาที แล้วค่อย ๆ เพิ่มจนได้ 150 นาทีต่อสัปดาห์
ดื่มน้ำให้เพียงพอ
น้ำ คือส่วนประกอบสำคัญในปฏิกิริยาชีวเคมีส่วนใหญ่ของร่างกาย ทำให้ระบบต่าง ๆ ทำงานได้อย่างสมบูรณ์ นอกจากนี้การดื่มน้ำ ยังช่วยลดความเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ, ความดันโลหิตต่ำ, นิ่ว, ท้องผูก และโรคที่เรื้อรังอีกหลายชนิด
ทานอาหารลดอักเสบ
อนุมูลอิสระที่มีอยู่ในร่างกาย ไม่ว่าจะได้รับจากอาหารทอด, ของหวาน, เครื่องดื่มที่มีน้ำตาลสูง, มลพิษ หรือเกิดจากตัวโรคเอง จะทำให้ร่างกายมีการอักเสบตลอดเวลา ซึ่งการทานอาหารที่มีสารต้านอนุมูลอิสระ อย่างชาเขียว, สมุนไพร และผักผลไม้ จะช่วยลดการอักเสบที่เกิดขึ้นได้
ทานยาตรงเวลา
วินัยที่สำคัญอันดับต้น ๆ ในการดูแลสุขภาพของคนที่มีโรคประจำตัว คือการทานยาที่แพทย์สั่งให้ตรงเวลาและถูกวิธี อย่างเช่น ยาบางชนิดต้องทานก่อนอาหารเท่านั้น ถึงจะดูดซึมได้ดี, ยาลดความดันโลหิตสูงที่ควรทานเวลาเดิมทุกวัน, ยาฆ่าเชื้อ (Antibiotic) บางชนิด ที่ห้ามทานพร้อมนม
พฤติกรรมที่ควรหลีกเลี่ยง
เลิกใช้สิ่งเสพติด
เครื่องดื่มแอลกอฮอล์, บุหรี่, กัญชา, กระท่อม, ล้วนแต่มีสารเสพติด เช่น เอธิลแอลกอฮอล์, นิโคติน, ทาร์, THC ซึ่งเป็นอันตรายต่อระบบประสาท, ระบบไหลเวียนโลหิต, การหายใจ และร่างกายโดยรวม อาจส่งผลให้อาการของโรคที่เป็นอยู่ทรุดลงได้
งดทานยาลูกกลอน
ผู้ป่วยโรคเรื้อรังหลายคนเลือกที่จะรักษาตัวเอง ด้วยการทานยาลูกกลอนที่ซื้อเองตามท้องตลาด ไม่มีฉลาก ไม่ทราบส่วนผสม ไม่รู้วิธีการผลิต ซึ่งผู้ผลิตบางแห่ง มีการผสมสเตียรอยด์ เพื่อให้หายเร็วทันใจ ช่วยให้สินค้าขายดี แต่ในระยะยาว อาจทำให้ไตวายจนต้องฟอกไตตลอดชีวิต
งดทานอาหารที่มีไขมันสูง
การทานอาหารที่มีไขมันอิ่มตัวและไขมันทรานส์สูง นอกจากจะทำให้ระดับไขมันแอลดีแอลในเลือดสูง จนเพิ่มจำนวนตะกรัน (Plaque) เกาะในเส้นเลือด ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดเส้นเลือดหัวใจตีบแล้ว ยังทำให้ร่างกายอักเสบเรื้อรัง ส่งผลให้ระบบต่าง ๆ ทำงานไม่สมบูรณ์ การฟื้นฟูร่างกายจากความเจ็บป่วย จึงทำได้ยากขึ้นด้วย
พักผ่อนน้อย
มีการศึกษาพบว่า การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอ ส่งผลเพิ่มความเสี่ยงของโรคที่เรื้อรังหลายชนิด เช่น ความดันโลหิตสูง, เบาหวาน, เส้นเลือดหัวใจตีบ, มะเร็ง ที่สำคัญคือ อายุยืนยาวน้อยลง โดยทำให้ความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่า
การดูแลสุขภาพ สำหรับโรคเรื้อรังที่พบบ่อย
- โรคความดันโลหิตสูง : ทานอาหารสำหรับผู้ป่วยความดันโลหิตสูง (DASH Diet) และจำกัดโซเดียมไม่ให้เกิน 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน
- โรคเบาหวาน : เลือกอาหารที่มีดัชนีน้ำตาลต่ำ และทานยาสม่ำเสมอ ตรงเวลา
- โรคหลอดเลือดสมอง : โปรแกรมออกกำลังกายที่ช่วยเสริมกล้ามเนื้อ อย่างเวทเทรนนิ่งเฉพาะส่วน มีส่วนสำคัญที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้ผู้ป่วย
- โรคเส้นเลือดหัวใจตีบ : ต้องทานยาแอสไพรินที่ช่วยต้านเกล็ดเลือด หรือยาวาฟาริน เพื่อละลายลิ่มเลือดสม่ำเสมอ โดยต้องระวังการเกิดอุบัติเหตุอย่างเต็มที่
- โรคไตวายเรื้อรัง : อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคไต เน้นการควบคุมโปรตีน, โซเดียม, โพแทสเซียม และดื่มน้ำตามที่แพทย์สั่งอย่างเคร่งครัด
สรุป
การดูแลสุขภาพสำหรับผู้ป่วยโรคเรื้อรังแต่ละโรค อาจมีความแตกต่างกันในรายละเอียด แต่หลักสำคัญ คือพยายามลดอนุมูลอิสระในร่างกาย เพื่อช่วยชะลอความเสื่อมและการอักเสบที่เกิดขึ้นภายใน ซึ่งจะช่วยให้การดำเนินของโรคเกิดช้าลงกว่าเดิม