ความเสี่ยงของการหกล้มในผู้สูงอายุ มีอัตราสูงขึ้นกว่าคนวัยอื่น ตามสภาพร่างกายที่ถดถอย ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกระบุว่า คนที่อายุมากกว่า 65 ปี จะเกิดอุบัติเหตุหกล้ม 28 – 35% ต่อปี และเพิ่มเป็น 32 – 42% เมื่ออายุเกิน 70 ปีขึ้นไป โดย 1 ใน 5 ของผู้สูงอายุที่หกล้ม จะเกิดการบาดเจ็บร่วมด้วย เช่น กระดูกสะโพกหัก, กระดูกขาหัก, ล้มหัวฟาดพื้น เลือดออกในสมอง ที่สำคัญคือ 40% ของการเสียชีวิตที่เกิดจากอุบัติเหตุ มีสาเหตุมาจากการหกล้ม ดังนั้นหากเรารู้จักแนวการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ ก็จะช่วยลดโอกาสเสียชีวิต ลดโอกาสทุพพลภาพ และลดเสี่ยงบาดเจ็บได้
ดูแลสุขภาพรอบด้าน เพื่อการป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ
ออกกำลังกายเป็นประจำ
สำหรับการออกกำลังกายในผู้สูงอายุ ควรเน้นเพิ่มกล้ามเนื้อ, เสริมความแข็งแรงของต้นขา, สร้างความยืดหยุ่นให้ข้อต่อ และฝึกการทรงตัว ซึ่งจะช่วยลดเสี่ยงหกล้มได้
เปลี่ยนท่าทางด้วยความระมัดระวัง
หากมีอาการเวียนศีรษะ, บ้านหมุน, หน้ามืด, เป็นลมบ่อย ควรหาที่ยึดเกาะขณะเปลี่ยนอิริยาบถ โดยเฉพาะการเปลี่ยนจากท่านอนหรือท่านั่งเป็นลุกยืน
รักษาโรคประจำตัวต่อเนื่อง
ภาวะความผิดปกติบางอย่างที่ไม่ได้รักษา หรือไม่ได้ทานยารักษาโรคต่อเนื่อง อาจเพิ่มความเสี่ยงของการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุได้ เช่น อาการกลั้นปัสสาวะไม่อยู่ และปัสสาวะบ่อยจากเบาหวาน ที่ทำให้ต้องลุกเข้าห้องน้ำตอนกลางคืนบ่อยขึ้น
เฝ้าระวังผลข้างเคียงจากยา
ยารักษาอาการจิตประสาทบางชนิด อาจทำให้เบลอ, ตัดสินใจช้า, ง่วงซึม หรือยาลดความดันโลหิตบางตัว อาจทำให้หน้ามืดบ่อย จนเสี่ยงล้มหัวฟาดพื้นมากขึ้น
ตรวจการฟังและตรวจสายตา
ผู้สูงอายุจะได้ยินและมองเห็นลดลง หากไม่ได้รับการแก้ไข ด้วยการใส่อุปกรณ์ช่วยฟัง หรือสวมแว่นสายตา อาจทำให้รับรู้ภัยอันตรายจากสิ่งแวดล้อมน้อยลง จนส่งผลเพิ่มความเสี่ยงหกล้ม อาจทำให้กระดูกหัก, เป็นแผลฉีกขาด, ศีรษะกระแทกพื้น หรือเลือดออกภายใน
ปรับบริเวณที่อยู่อาศัย เพื่อลดเสี่ยงอุบัติเหตุ
ดูแลทางเดินให้เรียบร้อย
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ เริ่มได้ง่าย เพียงแค่ดูแลทางเดินรอบบ้าน เช่น เก็บข้าวของที่เกะกะทางเดินออก, จัดสายไฟที่ขวางทางให้ชิดผนัง, ตรึงพรมให้แน่นกับพื้นหรือเก็บออก
ติดไฟส่องสว่างให้เพียงพอ
การเพิ่มแสงไฟรอบบ้าน โดยเฉพาะไฟอัตโนมัติที่ทำงานตอนกลางคืน เช่น ไฟทางเดินเข้าห้องน้ำ, ไฟบันได, ไฟหัวเตียง จะช่วยลดความเสี่ยงของการหกล้มหัวฟาดพื้น และป้องกันอุบัติเหตุที่รุนแรงได้
ติดราวพยุงตัว
ผู้สูงอายุมักจะทรงตัวไม่ดี, เคลื่อนไหวช้าลง, มีอาการข้อเข่าเสื่อม จึงเสี่ยงต่อการหกล้มได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะช่วงก้าวในพื้นที่ต่างระดับ ดังนั้นจึงควรติดราวช่วยพยุงที่บันได และข้างโถนั่งปัสสาวะ เพื่อช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ
ป้องกันการหกล้มทุกครั้ง เมื่อออกนอกบ้าน
เลือกเสื้อผ้าที่พอดีตัว
หลายคนนึกไม่ถึงว่า การสวมเสื้อผ้าที่พอดีตัว ไม่หลวมหรือคับจนเกินไป จะช่วยป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุได้ เพราะเสื้อผ้าที่หลวมรุงรัง อาจทำให้ผู้สูงอายุสะดุดหกล้ม ส่วนเสื้อผ้าที่แน่นเกินไป อาจทำให้เคลื่อนไหวไม่สะดวก จนเซล้มได้เช่นกัน
สวมรองเท้าที่กระชับ
รองเท้าเป็นไอเทมสำคัญ ที่จะช่วยป้องกันการพลัดตกหกล้มในผู้สูงอายุ เมื่อออกนอกบ้าน โดยควรเลือกสวมรองเท้าหุ้มส้น ที่ช่วยพยุงข้อเท้า, หน้ากว้างและเชิดขึ้นเล็กน้อย, ส้นเตี้ย และมีดอกยางโดยรอบ
ใช้อุปกรณ์ช่วยเดิน
โครงเหล็กช่วยเดิน หรือวอล์กเกอร์ (Walker), ไม้เท้า, ไม้ค้ำยัน คือตัวช่วยชั้นดีที่จะช่วยป้องกันผู้สูงอายุสะดุดล้ม จนเกิด กระดูกหัก หรือศีรษะกระแทกพื้น
สรุป
การป้องกันการหกล้มในผู้สูงอายุ เป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดอุบัติเหตุร้ายแรง ที่อาจเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้ โดยสามารถเริ่มต้นได้ง่าย เพียงปรับสิ่งแวดล้อมภายในบ้าน และดูแลร่างกายให้แข็งแรง แค่นี้ก็ช่วยลดอุบัติเหตุได้แล้ว